counters
hisoparty

HiSoParty x ISB - Power of the New Generations - คุณธัชชัย เลิศวิลัยวิทยา

2 years ago

           “ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนที่ชอบวิทยาศาสตร์ชอบทดลองทำโน่นทำนี่ สนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมเลยเลือกเส้นทางไว้เยอะเลยครับ ตอนแรกเคยคิดว่าจะไปเรียนต่อต่างประเทศ เป็น Medical Science หรือ Bioengineering และเรียนแพทย์ สุดท้ายผมก็ตัดสินใจที่จะเรียนแพทย์ในประเทศ เพราะผมตั้งใจที่จะเป็นแพทย์ในไทยครับ เพราะฉะนั้นถ้าจะเป็นแพทย์ที่รักษาคนในประเทศไทย การเรียนต่อที่ต่างประเทศน่าจะเป็นเรื่องยากครับ ยากในที่นี้หมายถึง เรื่องของวัฒนธรรม พื้นฐานความคิดของคน และเรื่องของสิ่งแวดล้อม ถ้าเราไปต่างประเทศเราต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด แต่ในเมื่อเราเติบโตมากับเมืองไทย ก็จะเข้าใจและคุ้นเคยลักษณะแนวคิด ของผู้ป่วยที่เป็นคนไทยมากกว่า ทำให้รู้วัฒนธรรมการกินอยู่ รวมถึงความเชื่อ เพราะเราเห็นมาตลอด ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายกว่ามาก ที่สำคัญสิ่งที่เราคุ้นเคยจะเป็นส่วนช่วยทำให้สามารถวิเคราะห์รากเหง้า รวมถึงปัญหาการเจ็บป่วยของคนไทยได้ง่ายขึ้น ทำให้เราสามารถจะรักษาผู้ป่วยได้อย่างเข้าใจ และมีประสิทธิภาพมากกว่าถ้าเราเรียนต่อและเป็นแพทย์ที่ไทย

          “นอกจากนี้การที่ผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแพทย์ในประเทศไทยอย่างโรงพยาบาลราชวิถี ก็จะทำให้เกิดความคุ้นเคยกับคนไทยมากยิ่งขึ้น ได้เห็นเคสผู้ป่วยที่เป็นคนไทย ได้ศึกษาพฤติกรรม ผู้ป่วยหลากหลายเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น ในการแพทย์ถือว่าได้ศึกษาเกี่ยวกับโรคมากมายมหาศาล รวมถึงได้มีโอกาสได้พบเจอผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเยอะมาก อาจารย์ผู้สอนก็ให้ความรู้แนวทางการรักษา คุณหมอไทยเก่งๆ เยอะมากครับ”

สิ่งที่ยึดถือเสมอ
          “ผมเชื่อในเรื่องความซื่อสัตย์ และทำทุกอย่างแบบตรงไปตรงมาครับ คือถ้าเราใช้ชีวิตอย่างตรงไปตรงมา ทำทุกอย่างแบบโปร่งใส ตรวจสอบได้เราก็ไม่มีอะไรต้องกังวล อีกเรื่องคือการตั้งเป้าหมายวางแผนล่วงหน้า และมีแผนสำรองเตรียมไว้ทั้งการเรียนและใช้ชีวิต ผมเป็นคนที่จะวางแผนเผื่อไว้ตลอด และ จะพยายามทำตามแผนนั้นให้เต็มที่ก่อน ถ้าไม่เป็นไปตามแผนก็จะมีแผนสำรองเตรียมไว้”

ปัญหาของประเทศไทยที่มองเห็นมาตลอดและอยากแก้ไข
          “ปัญหาที่ผมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ และอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหา ในฐานะของนักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะกลายเป็นแพทย์คนหนึ่งในอนาคต คือ ทุกวันนี้เราจะเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขเยอะมาก ด้วยความรู้ความสามารถที่มี และหากผมสามารถทำได้ ผมมองว่าระบบสาธารณสุข การให้บริการยังไม่เพียงพอ บุคลากรขาดแคลนเทคโนโลยี รวมถึงเครื่องมือที่ทันสมัยยังไม่กระจายไปทั่วประเทศ ยังกระจุกตัวตามโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลแพทย์ หรือโรงพยาบาลใหญ่ การเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์เป็นไปได้ยากเพราะว่าขาดแคลน เราจะเห็นคนมารอคิวเพื่อจะพบแพทย์ตามโรงพยาบาลรัฐต่างๆ ตั้งแต่ตีสี่ตีห้า บางคนก็มานอนค้างอย่างลำบากที่โรงพยาบาล ทั้งที่ตอนนี้ประเทศเรามีศักยภาพในการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ใหม่ๆ มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น การนำ AI เข้ามาใช้ให้เกิดการบริการที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระบบเวชระเบียน ประวัติการรักษาประวัติคนไข้, พยาบาล AI ที่สามารถช่วยคัดกรองคนไข้เพื่อลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีระบบโรบอท ออโตเมติก และ Teleconference อีกหลายอย่างเช่น หุ่นยนต์เจาะเลือด, การประชุมออนไลน์ในห้องผ่าตัด, การถ่ายทอดการผ่าตัดให้อาจารย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยให้คำแนะนำในการผ่าตัดได้ ผมเคยได้ยินแนวคิดที่ว่าเราสามารถจำลองการผ่าตัดได้ก่อนด้วย ซึ่งประเด็นนี้จะช่วยทำให้เกิดความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผมว่าสิ่งเหล่านี้กำลังเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และจะมีการพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ผมจึงตั้งใจว่าผมจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยเหลือคนส่วนมากในสังคมได้ครับ แล้วเมื่อเทคโนโลยีด้านการแพทย์ของประเทศเราเจริญก้าวหน้า เราจะพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติน้อยลง ต้นทุนโดยรวมของการรักษาดูแลผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขก็จะลดลง ทำให้สามารถแก้ปัญหางบประมาณต่างๆ ในระบบสาธารณสุขได้เท่าเทียมกัน สะดวกรวดเร็ว และง่ายขึ้นครับ”

อยากช่วยเหลือสังคมในด้านใดบ้าง
          “ช่วงที่ได้เรียนอยู่ที่ ISB ทางโรงเรียนได้สอนแนวคิด การวางแผนในการแก้ปัญหา ความเท่าเทียมเสมอภาค ปัจจุบันนี้ผมก็ยึดถือแนวคิดนี้มาใช้โดยตลอด ผมให้การรักษาผู้ป่วยเต็มกำลังความสามารถของผมทุกเคส ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่แบ่งแยก เชื้อชาติศาสนา และรักษาคนไข้แบบเข้าใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันครับ ในอนาคตผมก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันส่งเสริมการแก้ไขปัญหาระบบสาธารณสุข ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการให้บริการเชิงรักษา เป็นการให้บริการเชิงป้องกันรักษา ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการช่วยลดภาวะ Work Load ของบุคลากรทางการแพทย์ และส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่รั่วไหลไปยังต่างประเทศ หรือ หน่วยงานเอกชนต่างๆ ที่สำคัญเทคโนโลยีน่าจะทำให้การเข้าถึงระบบสาธารณสุขของทุกคนเป็นไปได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศครับ”

อยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบใดในอนาคต
          “ในฐานะคนไทย อยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชากรมีสุขภาพองค์รวม และ Quality of Life ที่ดี มี Happy Wellness ประชาชนมีองค์ความรู้ด้านสุขภาพ สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน”

Photo By : Prayuth
Author By : Arunlak

SHARE