counters
hisoparty

Thirat Nardviriyakul - Best Way to Escape from Your Problems Is to Solve Them.

3 years ago


“ผมเป็นนักสู้ ผมสู้มาตลอดจริงๆ ในชีวิตนี้เจอะเจออะไรมาเยอะมาก มีปัญหาที่ไม่คาดคิดเข้ามาให้เราได้แก้ไขเสมอเพราะเราทำธุรกิจ ดังนั้นผมว่าเรามีทางเดียวที่จะทำได้คือเมื่อมีอุปสรรคเข้ามา เรามีหน้าที่ต้องแก้ไข และข้ามมันไป เราไม่มีหน้าที่ที่จะมาท้อ ผมเชื่อว่าทุกอย่างแก้ไขได้หมด ยกเว้นว่าวันนั้นเราไม่มีกำลังใจจะแก้ หรือในวันนั้นเราเหนื่อยแล้วเราไม่อยากจะแก้มัน แต่ถ้าเรายังมีกำลังใจ ผมเชื่อว่าเราจะผ่านปัญหาไปได้ ทุกอย่างแก้ไขได้เสมอครับ” คุณโก้ - ฐิรัฐ นาถวิริยกุล กรรมการบริหาร บริษัท เดอะ คลาสสิค แชร์ส จำกัด ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิกชื่อดังของเมืองไทย ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งเขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในสายอาชีพ แต่แน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ หากขาดความพยายาม และความรักในสิ่งที่ทำ รวมถึงความเป็นนักสู้ (ปัญหา) ที่ดีด้วย ซึ่งในข้อนี้เราว่าเขาทำมันได้เกินร้อยทีเดียว

          “ถ้าพูดถึง The Classic Chairs Company ในช่วงวิกฤตของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนมาถึงในปีนี้ แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เราเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทำให้ธุรกิจของเราได้รับผลกระทบเหมือนกันครับเพราะพาร์ตหนึ่งของบริษัท เราทำเฟอร์นิเจอร์ให้กับกลุ่มธุรกิจโรงแรมอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงคอนโด Hi-End ต่างๆ ซึ่งผมว่าแทบจะทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แต่เราโชคดีที่ประคองตัวได้ และมีโครงภาษาอังกฤษที่มักจะพูดว่า One Door Shuts, One Door Opens มันก็เป็นเรื่องจริง เพราะในขณะที่โปรเจคต์ต่างๆ ต้องชะลอตัวหรือหยุดไป แต่เรายังมีออร์เดอร์ในด้านของต่างประเทศ รวมถึงรายได้จากโชว์รูมหน้าร้านที่กลับขายดี และถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ขนาดดีเลิศมากมาย แต่ว่ามันเป็นตัวจุนเจือให้เราพอที่จะมีกระแสเงินสดผ่านไปได้ครับ” คุณโก้ บอกเล่าให้เราได้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ซึ่งตัวเขาเองก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัวปรับใจเช่นกัน

          “จริงๆ ถ้าถามว่าเครียดไหม ผมเครียดเหมือนกับคนทั่วๆ ไป เครียดอยู่สัก 5 วัน 7 วัน แล้วผมก็คิดได้ว่าอุปสรรคหรือวิกฤตในชีวิตมันมีมาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งครั้งนี้มันก็ไม่ต่างกับครั้งอื่นๆ เพียงแต่รูปแบบมันอาจจะต่างกันออกไป เราทำธุรกิจมานาน แน่นอนว่าไม่ได้เจอกับความราบรื่นตลอด อุปสรรคมันมีเข้ามาสม่ำเสมอ หากย้อนไปตอนที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ตอนนั้นเป็นวิกฤตที่หนักมากสำหรับผม เพราะวันที่น้ำท่วมวันแรกผมมองไม่เห็นเลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ตอนนั้นน้ำท่วมโรงงานผมอยู่ 3 เดือน Production ไม่ได้ อย่าว่าแต่ Production เลย มันมีความเสียหายเกิดขึ้นด้วย วันนั้นผมนึกว่าเราคงจะไปไม่รอดนะครับ แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็ผ่านมาได้ แล้วเราก็เติบโตมาได้ต่อเนื่อง ผมว่ามันก็มีอุปสรรคมาตลอด และโควิด-19 ครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่เราจะต้องผ่านมันไปให้ได้ครับ”

การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในธุรกิจและแนวทางการบริหารองค์กร
         
“ผมมีการปรับเปลี่ยนเยอะเหมือนกันนะครับ ลำดับแรกที่เราต้องแก้ปัญหาก่อน คือปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องของ Cash Flow เรื่องของแรงงาน ซึ่งผมคอยให้กำลังใจลูกน้องทุกคนอยู่เสมอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันมาแล้วมันต้องไป ตัวเราเองต้องอดทน ถ้าเรามัวแต่ไปฟูมฟายกับปัญหาว่ามันไม่ดีต่างๆ นานา หรือจะไปนั่งติดตามจำนวนคนติดที่เพิ่มขึ้นทุกวันก็ไม่มีประโยชน์ เราเองต้อง Move On ต้องมาคิดถึงอนาคตว่าเราจะทำอย่างไร ส่วนตัวผมทางแก้ปัญหา ผมว่ามีทางเดียวคือเราต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็ว แน่นอนว่าธรรมชาติของคนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อก่อนแค่ประชุมออนไลน์ ด้วยความที่เรามีหลายสาขา ผมพยายามบอกทุกคนให้ประชุมออนไลน์กันดีกว่าไม่ต้องมาเจอกันหรอก เสียเวลาทำงาน ทุกคนมักบอกว่ามันยากอย่างนู้นอย่างนี้มีข้ออ้างต่างๆ แต่ปรากฏว่าพอโควิดมา ไม่มีใครเถียงอะไรทั้งสิ้น ทุกคนเปิด Zoom กันสบายๆ เราสามารถประชุมผ่าน Zoom กันได้แล้ว ตอนนี้ทุกคนยอมรับการเปลี่ยนแปลงแล้ว อาจด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นการบังคับให้ต้องเปลี่ยนด้วย เพราะถ้าทุกคนไม่ยอมเปลี่ยน เราอยู่ไม่ได้จริงๆ ผมจึงได้บอกกับลูกน้องทุกคนว่า ต่อไปนี้เราเหมือนเดิมไม่ได้แล้วนะ ฉะนั้นอะไรที่เราคิดว่าเรจะพัฒนา เราต้องรีบทำเสียวันนี้แล้วล่ะ ถ้าเราไปรอทำเดือนหน้าหรือปีหน้าเหมือนที่เราตั้งเป้าไว้นี่มันไม่ทัน วันนี้ต้องเปลี่ยนทันที ทุกคนก็ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับโควิดมันเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งของผู้ผลิต และผู้บริโภค เราต้องปรับแผนของเราจากที่ต้องใช้เวลานานก็ให้สั้นลง ปีที่ผ่านมาเราจึงมาลุยเรื่องการขายผ่านออนไลน์ในเว็บไซต์ พวก E-Commerce แพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเราคิดอยู่นานแล้วนะ ผมใช้เวลาคิดมา 2–3 ปี แต่พอโควิดมานี่ผมใช้เวลาเดือนเดียวผมเริ่มได้แล้ว (ยิ้ม) คือมันบีบบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเรารู้จักปรับเปลี่ยนเราน่าจะผ่านปัญหาต่างๆ ไปได้”

เตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหา
          “ผมมักจะบอกลูกน้องเสมอว่า อะไรจะเกิดมันก็เกิด บางอย่างมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราควบคุมสิ่งแวดล้อมไม่ได้ แต่เราปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ เราต้องพร้อมปรับตัวเอง ชีวิตคนเรารวมถึงธุรกิจมันไม่มีทางที่จะราบรื่นไปตลอด มันต้องมีวันดีแล้วก็มีวันร้าย วันที่เราดีมากๆ เราก็พึงระลึกเอาไว้เสมอว่า ถ้ามันมีอุปสรรคขึ้นมาแล้วเราจะรับมือมันไหวไหม ผมว่าเราต้องระวังตัวตลอด ถ้าเราคิดถึงวันดีๆ อย่างเดียว พอวันร้ายๆ มาเราคงจะมัวแต่ตื่นตระหนกเราต้องเตรียมความพร้อมทั้งกายใจไว้เสมอว่าทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน เราต้องพร้อมปรับตัว แล้วเราก็จะแก้ไขปัญหาทุกอย่างไปได้เอง”

วิธีการก้าวผ่านปัญหาที่เกิดขึ้น
          “อย่างแรกผมจะไม่มองปัญหาว่ามันเป็น End of The World ส่วนใหญ่เวลาผมเจอปัญหา คือ โอเค มีปัญหานะ แล้วเราจะทำอย่างไรผมจะมองปัญหาว่ามันเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่เราจะต้องข้ามมันไป เราต้องบริหารจัดการมันไป ส่วนสำคัญคือเราต้องไม่ไป Panic กับมันมาก แม้เราอาจจะ Panic เหมือนคนทั่ว ๆ ไปอยู่บ้าง แต่เราต้องรีบกลับตัวให้ได้ บางทีในวิกฤตมันมีโอกาสอยู่ ผมเห็นหลายๆ คน ที่ในช่วงโควิดนี้ธุรกิจเขาเติบโตแบบหลายร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะเขาเห็นโอกาสว่าเขาต้องทำอะไรอย่างไร แต่ถ้าเรามัวไปเครียดอยู่กับปัญหามันก็แก้ไขอะไรไม่ได้ แล้วเราจะจมอยู่กับปัญหานั้นๆ
          “ส่วนที่สองผมว่า ครอบครัวมีผลนะ มีผลมากๆ ทีเดียว ครอบครัวผมจะค่อนข้างให้กำลังใจกัน คือถ้าลูกๆ เห็นผมเครียด ลูกๆ ก็จะมาชวนหากิจกรรมทำ อย่างไปเที่ยว หรือทำอาหารกินกันบ้าง ผมว่าอันนี้ช่วยได้เยอะมาก รวมถึงคนรอบๆ ตัวที่คอยให้กำลังใจกันและกัน ทุกอย่างมันเหมือนเป็นกระจกเงานะครับ ถ้าเราให้กำลังใจเขา เขาก็ให้กำลังใจเราตอบ มัน Bounce กันไปมา แต่ถ้าเราทำตัวเครียดคนรอบตัวเราเขาก็เครียดไปด้วย กลายเป็นทุกคนเครียดกันไปหมด ฉะนั้นเราต้องปรับใจเราให้ดี อาจจะหาอะไรที่เอ็นจอยในชีวิตทำบ้าง อย่างผมชอบถ่ายภาพ ชอบทำอาหาร ในช่วงที่โควิด-19 ผมไม่มีอะไรทำก็ทำอาหาร (หัวเราะ) ตอนนี้ผมซื้อเครื่องทำกาแฟมาจริงจังมาก จะเป็นบาริสต้าอยู่แล้ว นี่ก็เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของเรา ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องมีสาระกับทุกอย่างในชีวิตได้ก็นะ
          “บางครั้งปัญหาถ้าเราไปจมกับมันมากๆ ยิ่งทำให้เราหลงพอเดินผิดทางแล้วมันก็ยิ่งลึก บางทีเราถอนตัวเองออกมาแล้วมานั่งดูข้างนอกเราอาจจะเจอทางอื่นที่มันไม่ใช่ทางที่เราจะเดินต่อไปก็ได้ ผมจึงคิดว่าเราควรเอ็นจอยกับชีวิตด้วย ผมสอนลูกเสมอว่า เราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานหาเงินอย่างเดียวนะ เราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขด้วยทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข แล้วรับผิดชอบกับมันให้เต็มที่ เวลาเราเจอปัญหาเราจะมีพลังที่จะสู้ แล้วพร้อมก้าวผ่านมันไปได้แน่นอน”

Photo By : Prayuth
Author By : Arunlak

SHARE    

SHARE