counters
hisoparty

GO WITH THE FLOW - PIMPISA CHIRATHIVAT

2 years ago

แม้จะเป็นการเข้ามาทำงานในธุรกิจของครอบครัว หากแต่บททดสอบแรกที่เธอได้รับก็ไม่ได้ง่ายดายนัก สำหรับ คุณแพร์ – พิมพิศา จิราธิวัฒน์ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและงานบริการด้านเทคนิค (Corporate Director of Design & Technical Services) ของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา โดยประเดิมโปรเจคท์ใหญ่ โปรเจคท์แรกกับบทบาทสำคัญในการพัฒนาส่วนงานดีไซน์ และออกแบบคอนเซปท์ให้กับโรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย

          “แพร์เริ่มเข้ามาช่วยงานโรงแรมฯ ประมาณสองปี พอมาปุ๊บก็เจอกับสถานการณ์โควิดเลย (หัวเราะ) ทำให้แพลนอะไรหลายๆ อย่างมีเลื่อนออกไปบ้าง โดยในส่วนที่แพร์เข้ามารับผิดชอบคือ Design & Technical Services ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าทำดีไซน์ แต่ไม่ใช่คนออกแบบโรงแรมนะคะ แต่แพร์จะเข้ามาดูแลโปรเจคท์ตั้งแต่ต้น หมายถึงดูแลทุกอย่างตั้งแต่เรื่องงบประมาณ การวางแพลนไทม์ไลน์ต่างๆ คงคล้ายๆ กับโปรเจคท์เมเนจเมนต์ค่ะ รวมถึงการประสานงานกับส่วนต่างๆ ตั้งแต่ช่วงก่อนการก่อสร้าง จนถึงช่วงก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำหน้าที่ประสานงานกับอินทีเรียร์ และสถาปนิก เสมือนเราเป็นคนคุมโปรเจคท์ค่ะ

          “โปรเจคท์แรกที่แพร์มาดูเต็มตัวคือ เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย แต่ว่าแพร์ไม่ได้เข้ามาตั้งแต่ต้น แพร์เริ่มเข้ามาช่วงที่ทำอินทีเรียร์พอดี เพราะแพร์มีดูโปรเจคท์ที่อื่นด้วย แต่สำหรับเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย คือเข้ามาดูเต็มๆ ตัว เพราะว่าเป็นแบรนด์ใหม่ของเครือ จึงค่อนข้างต้องใช้เวลาอยู่กับมันเยอะ ยิ่งเป็นแบรนด์ลักซูรี่ต้องละเอียดและเป็นอันแรกของเครือเรายิ่งต้องทำให้โดน จึงไม่ใช่แค่ดูในแง่ของโปรเจคท์เมเนจเมนต์หรือการทำดีไซน์อย่างเดียว แต่ว่าแพร์ต้องเวิร์กกับทุกส่วนรวมถึงมาร์เก็ตติ้งด้วย เพื่อให้การสื่อสารตัวแบรนด์นี้ออกมาชัดเจนและไปด้วยกันได้ค่ะ

          “หากจะพูดถึงความแตกต่างระหว่างโรงแรมในเครืออื่นๆ กับที่นี่ คือเกือบทุกอย่างค่ะ เพราะแต่ละแบรนด์จะมีคอนเซ็ปต์ต่างๆ กัน อย่างเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลเวิลด์จะมีความเป็นซิตี้โฮเต็ล เพราะอยู่กลางเมือง แต่พอเป็นรีสอร์ท แขกที่เข้าพักส่วนใหญ่คือไปพักผ่อน และยิ่งเป็นแบรนด์ที่เราขายราคาสูง เรายิ่งต้องใส่ใจเยอะๆมากขึ้นไปอีกจากที่ใส่ใจเยอะอยู่แล้ว เรียกว่าเก็บละเอียดทุกจุดเลย แต่ว่าแพร์โชคดี ที่แพร์ได้ทีมโอเปอเรชั่นที่โน่น ทุกคนโอเพ่น และมีความกระตือรือร้นที่จะสร้างแบรนด์ไปด้วยกัน ทุกคนมีส่วนร่วมในการครีเอท เพราะลักซูรี่ต้องเก็บทุกรายะละเอียด โดยเฉพาะในการบริการต้องดี การได้ลงมาทำงานครั้งนี้ทำให้แพร์ได้เรียนรู้หลายอย่างมาก แทบจะทุกองค์ประกอบ ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่า ถ้าเราจะไปสร้างโรงแรมแบบนี้ที่อื่น มีเรื่องไหนที่เราต้องใส่ใจบ้างค่ะ ที่สำคัญแพร์ยังได้มีโอกาสทำงานกับหลายๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็นดีไซเนอร์ หรือบริษัทที่เป็นคอนซัลท์ให้เรา แพร์ได้เรียนรู้ทุกอย่างจากการลงไปทำงานด้วยตัวเองค่ะ ถ้าถามว่าเหนื่อยมั้ย ก็เหนื่อยแต่ไม่ได้รู้สึกว่าโดนบังคับให้ไปทำ เพราะเราก็ชอบงานด้านนี้อยู่แล้ว ในส่วนงานดีไซน์ของที่นี่จะมีความเป็นแพร์ 100 เปอร์เซ็นต์มั้ยเพราะเราเข้ามาดูแลก็คงไม่ใช่ค่ะ อาจจะมีส่วนหนึ่งเพราะเราเป็นคนเคาะแบบว่าเอาแบบนี้ แต่แพร์จะไม่เอาเทสต์ตัวเองลงไปใส่ในงานเยอะเพราะว่าที่นี่ไม่ได้ดีไซน์เพื่อแพร์ เราดีไซน์ให้แขกที่เข้ามาพัก เราเลือกดีไซน์ที่คิดว่ามันเหมาะกับบริบทนั้นๆ เหมาะกับสถานที่นั้นๆ โดยเคารพสิ่งแวดล้อมรอบข้าง คือไม่ใช่ไปสร้างอะไรแล้วมันหลุดไม่เข้ากับอะไรเลย ที่สำคัญที่สุดคือคำนึงถึงฟังก์ชั่นการใช้งาน ต้องสะดวกสบาย ทั้งกับแขกที่มาพักและพนักงานที่ทำงาน ยิ่งงานหลังบ้านเราต้องมีการดีไซน์ที่เอื้อให้กับคนทำงานด้วย เพื่อให้เขาทำงานได้อย่างมั่นใจ มันก็จะย้อนมาในเรื่องของการออกแบบ เราจะทำโดยนึกถึงคนที่อยู่ตรงนั้นให้มากๆ เอาเรื่องของฟังก์ชั่นเป็นหลักก่อน เพราะออกแบบให้สวย ใครๆ ก็ออกแบบได้ แต่สำหรับฟังก์ชั่นการทำงานก็สำคัญค่ะ แต่ถึงจะบอกแบบนี้ ในเรื่องความสวยงามที่นี่ก็สามารถถ่ายรูปได้ทุกมุมนะคะเพราะแพร์ถ่ายมาแล้ว (ยิ้ม) คือ พรอเพอร์ตี้นี้ สีหรืออะไรที่เราใช้ค่อนข้างจะกลางๆ ไม่ได้ฉูดฉาดอะไรมาก แพร์ไม่ได้อยากทำอะไรที่มันตื่นเต้นเกิน และบริษัทที่เขาเข้ามาออกแบบให้เรา คือ อาฟโรโค่ (AvroKO) เขามีความเพลย์ฟูล แต่ยังมีความนิ่ง คือมีความเก๋ และแอบใส่กิมมิคเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเรารู้ได้เลยว่าเขาคิดเยอะ และมันออกมาลงตัวมากค่ะ”

Teamwork
          “ด้วยความที่ทีมแพร์ไม่ได้ใหญ่มาก ไม่ต้องคอนโทรลอะไรเขาเยอะ เราใช้วิธีการคุยแลกเปลี่ยนความเห็น ไม่ได้มีความเจ้านายลูกน้อง แพร์ไม่ชอบทำงานแบบนั้น เพราะมันทำให้คนไม่กล้าที่จะมาคุยกับเรา แพร์มองว่าเรื่องคอมมูนิเคชั่นในองค์กรสำคัญมาก เราควรที่จะคุยกัน สื่อสารกัน เพื่อที่จะสร้างโปรดักส์ให้มันดี ถ้าเกิดในทีมยังไม่คุยกันเลย เราจะไปคุยกับลูกค้าข้างนอกได้อย่างไร”

Work Life Balance
          “งานจะหนักช่วงที่ลงไปไซด์ ช่วงนั้นเวลาของเราจะหายไปเลย เพราะเวลางานคือเวลางาน ถ้าไม่ใช้เวลางานแพร์พยายามจะไม่ทำ แพร์ไม่อยากเป็นเหมือนเมื่อก่อนคือ สี่ทุ่มยังนั่งทำงานอยู่ ตอนเด็กๆ มันทำไหว ซึ่งเราได้เรียนรู้แล้วว่ามันทำให้การพักผ่อนของเราไม่ดี ตอนนี้ถ้าไม่ใช่ชั่วโมงทำงาน ถ้าไม่สำคัญจะไม่คุย แพร์เต็มที่กับงานนะ แต่เราต้องมีเวลาให้กับตัวเองด้วย ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเรื่องไหนสำคัญมันหยืดหยุ่นได้ แพร์ไม่อยากเป็นออฟฟิศซินโดรม ไม่อยากเครียด คนไทยหรือคนแถบเอเชีย จะมีมายเซ็ตว่าฉันต้องดูขยันที่สุด เหมือนแข่งกันขยัน แพร์รู้สึกว่าถ้าขยันแล้วงานมันไม่มีประสิทธิภาพจะขยันไปทำไม สู้เอาความขยันไปใช้ให้ถูกที่ถูกเวลาดีกว่า แพร์ให้ความสำคัญกับความ Productive แพร์คิดว่าตอนนี้ไม่ใช่ยุคที่เราต้องออกจากออฟฟิศเป็นคนสุดท้ายแล้ว ถ้ามันไม่ได้มีประโยชน์อะไรแต่ถ้าแพร์ทำงานได้มีประสิทธิภาพทุกอย่างคือจบ แพร์ไม่อยากให้ตัวเองมีความรู้สึกว่าไม่อยากทำหรือเบื่อหน่ายการทำงาน แพร์จึงแบ่งเวลาการทำงานกับการพักผ่อนให้สมดุลกัน เวลาพักคือพัก เพื่อให้ทุกวันแพร์สามารถดำเนินงานไปได้เรื่อยๆ แพร์ไม่ได้เป็นคนสุดโต่ง แพร์เป็นคนที่ทำทุกอย่างไปด้วยกัน แพร์สามารถ Work Life Balance ได้ แพร์เรียนสถาปัตย์ฯ แต่แพร์ไม่เคยอดนอนนะ แพร์สามารถตื่นไปเล่นพิราทิส 7 โมง และแพร์ส่งงานทันทุกครั้ง แพร์เป็น Rare Case ที่เพื่อนทุกคนจะงง แพร์ว่าทุกคนทำได้ อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ เรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากันอยู่ที่เราจะเมเนจมันยังไงค่ะ”

Go with The Flow
          “Go with The Flow... ตอนนี้ชีวิตเป็นแบบนี้อย่างเรื่องงาน อยู่ๆ มีโควิดเข้ามา ถึงมันไม่ใช่เรื่องดี แต่ว่ามันก็สอนอะไรหลายๆ อย่างให้เรา ด้วยความที่แพร์ชอบทำอะไรเป็นระบบ ชอบทำอะไรตามแผน แล้วพอมันผิดแผน มันทำให้แพร์ได้ผ่อนความตึงตรงนั้นลง ทำให้แพร์คิดได้ว่ามันก็ได้นะ ที่ทุกอย่างมันไม่ต้องเป๊ะไปหมดอย่างใจคิด ส่วนหนึ่งแพร์ได้เรียนรู้สิ่งนี้จากคนข้างตัว เพราะเขาเป็นคนที่ชิลล์มาก เหมือนเขาได้เข้ามาบาลานซ์ให้กับแพร์ ทำให้เราปล่อยวางมากขึ้น และไม่คาดหวังอะไรมากกับอนาคต เพราะเรื่องบางเรื่องเราคาดหวังไม่ได้หรอก แต่ว่าเราต้องมีสติกับการทำทุกอย่าง ซึ่งแพร์เองก็อยู่ในขั้นตอนของการเรียนรู้ และปรับความคิดไป อีกอย่างแพร์เชื่อว่าคนเราหยุดเรียนรู้ไม่ได้ มีอะไรให้เราเรียนรู้ตลอดชีวิตค่ะ”

Photo By : Prayuth
Author By : Arunlak

SHARE    

SHARE