counters
hisoparty

‘พุกาม’ ในเงางามแห่งศรัทธา และทุ่งเจดีย์

4 years ago

ต่อให้คนทั้งโลกหายใจเข้าเป็นทวิตเตอร์ หายใจออกเป็นเฟซบุ๊ค หรือถูกสมาร์ทโฟนสะกดจิตให้นั่งนิ่งได้เป็นวัน ‘พุกาม’(Bagan) ก็ไม่เคยเปลี่ยน เพราะนี่คือเมืองใต้เงางามแห่งทุ่งเจดีย์ที่อยู่เหนือกาลเวลา
พูดให้เข้าใจง่ายคือ โมงยาม และกาลเวลาไม่อาจทำลายแก่น และตัวตนของพุกามได้ เมืองที่มีพุทธศาสนาเป็นเสาเข็ม และมีศรัทธาอันเข้มแข็งของผู้คนเป็นตอม่อของเมืองแบบนี้ ต่อให้สายลมแห่งโลกาภิวัตน์และมรสุมแห่งเทคโนโลยีจะกระหน่ำเข้าใส่แรงแค่ไหน หรือถูกความทันสมัยยั่วเย้า หากแต่ศรัทธาอันเหนียวแน่นในพุทธศาสนายังคงอยู่

เพราะเที่ยวพุกามแบบซ้ำไปซ้ำมาเหมือนแผ่นเสียงตกรอบอยู่หลายรอบ ถึงได้กล้าพูดแบบนี้ อาจไม่ถึงขั้นไร้เดียงสาซะทีเดียว แต่พุกามก็ไม่ใช่สาวบ้านนอกใจแตก เธอยังนุ่งโลงจี หนีบรองเท้าแตะ บนดวงหน้าโรยไว้ด้วยทานาคา แบกศรัทธาไว้ในใจแล้วปั่นสองล้อไปไหว้พระ เป็นแบบนั้นจริงๆ

ลองแอบคิดเล่นๆ สิว่าอาจจะเห็นวัยรุ่นพุกามโหลดแอพพลิเคชั่นเก๋ๆ มาไว้บนหน้าจอไอโฟน คงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับยุคสมัยที่ผู้คนพร่ำเพ้อถึงแต่ 4G 5G

แปลกแฮะ ที่ผู้คนยังใช้ระบบศรัทธาเชื่อมโยงเครือข่ายภายในพุกาม พวกเขายังพบปะเจอะเจอกันที่วัดและเจดีย์มากกว่าเจอกันหน้าจอโทรศัพท์ จอคอมพิวเตอร์ หรือจ้องกันทางยูทูบ

บางคนไปพุกามหลายเที่ยว แต่เชื่อเถอะว่าแต่ละครั้งให้ประสบการณ์ที่ไม่เคยซ้ำหน้า แต่ไม่ว่าจะมาเที่ยวไหน พุกามก็ยังต้อนรับทุกคนด้วยรอยยิ้มเห็นฟันดำฉ่ำน้ำหมากอยู่ดี ถ้าใครนึกรังเกียจแสงแดดเข้าเส้นแนะว่าให้เช่ารถม้าแทน แต่ต้องแน่ใจว่าทนแรงโขยกเขยกบนหลังม้าได้ แต่ใครที่รักใคร่ชอบพอกับแสงแดด นิยมสองล้อมากกว่าพาหนะใดๆ แนะว่านั่งบนอาน ปั่นเนิบๆ แวะเจดีย์โน้นทีนี้ที นี่แหละความสุขที่เอาเฟอรารี่มาแลกก็ไม่ยอม

ขู่ไว้ซะก่อนว่าที่นี่ร้อนไม่ธรรมดา แต่มันร้อนเหมือนมีพระอาทิตย์ 2 ดวง สาเหตุที่พุกามเป็นทุ่งแล้งเหมือนทะเลทราย ก็เพราะในอดีตชาวบ้านที่เขาตัดต้นไม้กันซะเยอะ ส่วนเหตุที่ตัดกันได้โล่งเตียนขนาดนี้ ก็เพราะต้องการนำต้นไม้มาทำฟืนเผาอิฐ เพื่อก่อสร้างเจดีย์และวิหาร เพราะการสร้างเจดีย์ของชาวพุกาม ไม่เพียงเป็นการเสริมบารมีและเป็นดัชนีวัดความมั่งคั่งของผู้คนในสมัยก่อน แต่ยังเชื่อกันว่า นี่คือการทำบุญที่เป็นประตูไปสู่สวรรค์

นี่คือดินแดนแห่งความสงบงาม ที่ว่ากันว่าศาสนาพุทธของชาวพม่าเริ่มต้นที่พุกาม อาณาจักรโบราณที่มีอายุกว่า 240 ปีมีกษัตริย์ปกครองเมือง 11 พระองค์ หลังจากปีพ.ศ.1830 พุกามถูกพวกมองโกลเข้ายึดครองดินแดนแห่งนี้ ทุกวันนี้ยังคงปรากฏร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองและศรัทธาของผู้คนที่มีต่อพุทธศาสนาในสมัยนั้น ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และซาบซึ้งไปกับแรงศรัทธาของคนในอดีตกาล

บ้างก็ว่า ในยุคที่อาณาจักรพุกามรุ่งโรจน์สุดขีด มีเจดีย์ทั้งสิ้นสี่ล้านกว่าองค์ อันนี้ไม่รู้เท็จจริงยังไง แต่เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้ง ทำให้เจดีย์ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก แถมยังถูกกองทัพมองโกลเข้ารุกราน จำนวนเจดีย์จึงร่อยหรอลง ทุกวันนี้ยังคงเหลือเจดีย์ที่ยังคงสภาพดีและได้รับการบูรณะกว่าสี่พันองค์

แบบฉบับของนักเดินทางส่วนใหญ่ ที่พุ่งไปหาศาสนสถานประจำเมืองอย่างวัดอนันดา ทางเดินเข้าสู่เจดีย์แห่งนี้ มีของวางขายล่อใจนักช้อปเกลื่อนกลาดไปหมด แต่ไม่ค่อยมีใครแวะช้อป เพราะทุกคนอยากเข้าไปดูด้านในของวัดมากกว่า ไม่ใช่ภายนอกเท่านั้นที่ดูงดงาม แต่ด้านในเจดีย์ยังกว้างขวาง สมกับเป็นวัดใหญ่ประจำเมือง

วัดนี้สร้างโดยช่างชาวมอญในสมัยพระเจ้าจันสิทธา ทุกทิศมีพระพุทธรูปปางต่างๆ อยู่รายรอบ แต่พระพุทธรูปรูปที่เป็นองค์เก่าที่อยู่ด้านทิศใต้ ส่วนด้านทิศอื่นเป็นองค์ที่สร้างใหม่ในภายหลังทั้งสิ้น แน่นอนว่า ความมหัศจรรย์ของการสร้างในสมัยเก่าย่อมมีมากกว่า ถ้าเปรียบการท่องทุ่งเจดีย์ในพุกามเหมือนกำลังดูหนังเรื่องหนึ่ง พอได้พบและรู้จักกับอนันดา ก็เท่ากับว่า ได้รู้จักกับพระเอกของหนังเรื่องนี้ไปแล้ว จากนี้ไปเป็นฉากที่ต้องไปเจอกับนางเอก นางรอง พระรองและตัวประกอบอีกคับคั่ง

พุกามมีศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ประจำเมืองอยู่ 4 แห่ง คือวัดอนันดา เจดีย์ชเวสิกอง เจดีย์ธรรมยางยี และที่วัดทัพพินยู ที่สร้างโดยพระเจ้าอลองสิทธุ เป็นเจดีย์วิหารที่สูงถึง 201 ฟุต องค์เจดีย์มี 5 ชั้น ชั้นที่ 5 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ แต่ด้วยความทรุดโทรมจึงห้ามคนขึ้นไปด้านบน ส่วนบนชั้นที่ 4 เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก

ทริปเจดีย์สัญจรจะยังรูดม่านลงไม่ได้ถ้ายังไม่ได้เจอหน้าวิหารธรรมยังยี ที่ฉันยกให้เป็นนางเอกประจำพุกาม นี่คือเจดีย์องค์ใหญ่ที่สุดในพุกาม ที่ยังคงรักษาความงามไว้อย่างเหนียวแน่น แม้จะเป็นเจดีย์ ไม่มียอด จนดูเหมือนสร้างไม่เสร็จ เพราะกษัตริย์นราธุถูกปลงพระชนม์ไปซะก่อน แต่ก็ไม่ทำให้ธรรมยางยีดูขี้เหร่ ไม่ว่ามากี่เที่ยว สาวมีตำหนิคนนี้ก็ยังทนุถนอมเสน่ห์ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ยังมีเจดีย์ชเวสิกองอาบอิ่มรัศมีความศักดิ์สิทธิ์ และสุกอร่ามไม่แพ้เจดีย์ใหญ่แห่งอื่นในพม่า องค์เจดีย์รูประฆังคว่ำเด่นตระหง่าน ชเวสิกองไม่ต่างจากเจดีย์ไหนๆ ในพม่า ที่ศรัทธาอันแรงกล้าของผู้คนไม่เคยเหือดแห้ง แต่ละวันจะมีชาวบ้านเดินทางมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองของพวกเขา ว่ากันว่า เจดีย์ใหญ่แห่งนี้นับเป็นเจดีย์ที่คนพม่าให้ความเคารพนับถือ รองจากชเวดากองแห่งย่างกุ้ง และชเวมอดอว์ที่หงสาวดี

ต้องอยู่พุกามซักอาทิตย์ ถึงจะตระเวนเที่ยวชมเจดีย์ให้ทั่ว แต่ไม่ว่าจะสี่ล้านหรือสี่พัน พุกามก็มีคุณค่ามากกว่าการเป็นมรดกโลกเสมอ

Story & Photo By กาญจนา หงษ์ทอง

SHARE