counters
hisoparty

ว่ายน้ำ..... ฟันเสียว ฟันกร่อน แก้อย่างไร

5 years ago

ปัญหาหนึ่งของนักว่ายน้ำทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คือเสียวฟันจากการว่ายน้ำ บ่อยครั้งนักกีฬาต้องทนทรมานกับการหมั่นฝึกซ้อมทุกวัน และทานอาหารไม่ได้เนื่องจากมีอาการเสียวฟัน สิ่งที่สังเกตได้ง่ายคือฟันหน้าจะเริ่มสึกกร่อนไป จนฟันเริ่มมีสีเหลือง มีคราบ และผิวหน้าฟันเรียบ ไม่เงางาม

สระว่ายน้ำทั่วไป จะมีการใช้สารเคมีต่าง ๆ ได้แก่ hydrocholoric acid, chlorine, sodium bicarbonate เพื่อปรับสภาพน้ำในสระให้มีค่ากรด-ด่าง หรือ pH ที่เหมาะสมต่อร่างกายมนุษย์ คือ ระหว่าง 7.4 ถึง 7.6 สารคลอรีนจะถูกใช้ในการปรับและฆ่าเชื้อในสระ สารคลอรีนที่ใช้มักอยู่ในรูป chlorine gas หรือ trichloro-isocyanuric acid ซึ่งจะเป็นกรดสูง จนอาจหลงเหลือสภาพกรดในน้ำสูง การใช้สาร sodium bicarbonate และ hydrocholoric acid จะใช้เป็นสารปรับ pH จนได้ค่าที่ต้องการ สระว่ายน้ำในเมืองไทยส่วนใหญ่จะมีค่า pH อยู่ประมาณ 6.8 – 7.6 ซึ่งจัดว่ายอมรับได้ดี

ระดับ pH ของสระมีผลต่อความสมดุลของสารเคมีทุกชนิดในสระน้ำ pH เป็นตัววัดระดับไอออนของไฮโดรเจนหรือความเป็นกรดของน้ำในสระ ค่า pH เป็น 0 แสดงถึงสภาวะที่เป็นกรดมากและค่า pH เป็น 14 แสดงถึงสภาวะที่เป็นด่าง (ค่า pH 7 จะเป็นค่ากลาง) ค่า pH ของน้ำในสระน้ำที่ดีที่สุดจะอยู่ระหว่าง 7.4 ถึง 7.6 ซึ่งถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับดวงตาและผิวของนักว่ายน้ำ ทำให้ระดับคลอรีนที่เหมาะสมเพียงพอเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ตะไคร่น้ำ และเชื้อรา โดยไม่มีสารตกค้างที่กระเบื้องของสระว่ายน้ำ แต่หากการผสมสารต่างๆ เกิดในปริมาณไม่เหมาะสม จะเกิดความเป็นกรดหลงเหลือในสระ ทำให้น้ำในสระเป็นกรด เชื้อแบคทีเรีย ตะไคร่น้ำ และเชื้อราไม่เติบโตก็จริง แต่จะก่อความระคายเคืองต่อร่างกายนักว่ายน้ำ ตั้งแต่การแสบผิว แสบตา แสบจมูก ผมเสียแห้งหยาบ และเสียวฟันจากฟันกร่อน

จะว่าไปแล้ว การว่ายน้ำในสระที่มีการควบคุมค่า pH ไม่ดีพอ จะส่งผลเสียในระยะยาวต่อร่างกาย การเลือกสระว่ายน้ำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรกสำหรับนักกีฬาทุกคน เพราะนักกีฬาต้องใช้เวลาวันละ 2-3 ชั่วโมงในการฝึกซ้อม สระที่ดีจะต้องมีการควบคุมการใส่สารต่างๆ จนได้ค่า pH ที่พอเหมาะ เราสามารถสังเกตจากบอร์ดรายงานข้างสระ ที่จะแจ้งวันเวลาในการปรับสภาพน้ำ และผล pH ที่ปรับได้หลังผสม นอกจากนี้ นักกีฬาควรเลือกสระที่มีการผสมสารในเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ผสมสารก่อนช่วงเวลาที่เราต้องใช้สระว่ายน้ำเกินไป (ทั้งนี้ สระจะไม่อนุญาตให้นักว่ายน้ำลงสระหลังผสมสารปรับประมาณสองชั่วโมง แต่จากรายงานก็พบว่า เมื่อเวลามากขึ้น ค่าความเป็นกรดในสระจะดีขึ้น นักว่ายน้ำจึงควรพิจารณาใช้สระ ในเวลาที่ห่างจากการทำความสะอาดสระนานพอควร)

สระว่ายน้ำบางแห่ง อาจไม่ได้รับการควบคุมดูแลเรื่องค่า pH อย่างเข้มงวด และมีสภาพเป็นกรดที่ pH ต่ำกว่า 5.0 ซึ่งจะทำให้ผิวเคลือบฟันถูกละลายออก และค่อยๆ สึกกร่อนหายไปทีละน้อย ชั้นผิวเคลือบฟันชั้นนอกสุด มีสีขาวใส ทนภาวะความเป็นกรดได้ที่ pH ไม่ต่ำกว่า 5.0 เมื่อผิวเคลือบฟันสัมผัสกับน้ำในสระที่ pH ต่ำกว่า 5.0 บ่อย ๆ ผิวเคลือบฟันจะสึกกร่อนและบางลงเข้าใกล้ชั้นเนื้อฟันซึ่งเชื่อมต่อกับเส้นประสาทฟันในโพรงฟันมากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการเสียวฟันขึ้นได้ หากพบว่า เริ่มมีอาการเสียวฟัน แสดงว่าเราได้รับผลจากน้ำในสระเข้าแล้ว ต้องรีบระมัดระวังแก้ไขอย่างเร่งด่วน

สภาพฟันหน้าที่ถูกทำลายโดยกรดในน้ำ จะมีสภาพผิวฟันด้านหน้าสึกกร่อนและเรียบ ผิวฟันด้าน ไม่เงางาม และมีคราบสี น้ำตาลหรือเหลืองติดบนผิว แปรงออกยาก และมักมีอาการเสียวฟัน เมื่อมีอาการเสียวฟัน ทำให้นักว่ายน้ำ ไม่ค่อยอยากแปรงฟัน สุดท้ายก็ทำให้เกิดโรคฟันผุได้ง่ายขึ้น

ข้อแนะนำการปฏิบัติตน สำหรับนักกีฬาว่ายน้ำ
เลือกสระว่ายน้ำที่มีการควบคุมที่ดี หรืออาจตรวจค่า pH ด้วยกระดาษลิตมัสเอง ตรวจเช็คและตรวจสอบเอง ด้วยกระดาษลิตมัส แต่สำหรับนักกีฬาอาจจะเป็นการยากเพราะครูฝึกในสนามต่างๆ นั้น จะจัดให้ซ้อมในสโมสรของตน ผู้ปกครองสามารถตรวจเช็คและเลือกสโมสรให้ลูกได้ หรือส่งตรวจสอบผลไปให้ผู้บริหารสโมสรนั้นๆ ได้ แม้ว่าจะเป็นการยากในการเลือกสระ แต่การตรวจเช็ค ก็เป็นการช่วยตัดสินใจ ในการเลือกสระซ้อมที่ดีให้กับนักกีฬา ข้อต้องระวังคือสระควรมีการควบคุมดูแลค่า pH ของน้ำ ไม่ให้ต่ำกว่า 5.0 ระดับคลอรีนส่วนเกินในสระเป็นผลมาจากความผิดพลาดของมนุษย์หรือความผิดปกติของอุปกรณ์ทำความสะอาดสระน้ำ ระดับคลอรีนในสระน้ำสูง ทำให้นักว่ายน้ำมีอาการระคายเคืองตาปานกลางถึงรุนแรง อาจมีอาการแสบผิว เป็นผื่นขึ้น ผิวหนังระคายเคือง หรือแสบผิวช่องปากได้ นอกจากนี้ หากนักว่ายน้ำสูดดมน้ำที่มีคลอรีนสูง อาจมีอาการแสบจมูก น้ำตาไหลได้

เลือกสระว่ายน้ำประเภทสระน้ำเกลือ
ซึ่งอัตราค่าใช้บริการจะมีราคาสูงกว่าสระคลอรีน แต่ก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า สำหรับนักว่ายน้ำสโมสรต่างๆ นั้น ก็เป็นการยากที่จะเลือกสระน้ำเกลือเช่นกัน เพราะสระว่ายน้ำส่วนใหญ่จะเป็นสระคลอรีน อย่างไรก็ตาม สระว่ายน้ำชนิดสระน้ำเกลือ ก็มีการใช้เกลือในการจัดการทำความสะอาดน้ำ และอาจมีค่า pH ที่ไม่เป็นกลางได้เช่นกัน การตรวจเช็คก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อความปลอดภัยต่อนักว่ายน้ำ

ข้อปฏิบัติของนักกีฬาว่ายน้ำ
• เมื่อขึ้นจากสระ ห้ามแปรงฟันทันที ควรรออย่างน้อย 30 นาทีหลังขึ้นจากสระ จึงจะแปรงฟันได้ เพราะฟันยังคงอ่อนแอจากการสัมผัสกรดในน้ำ การแปรงฟันจะยิ่งทำให้ฟันสึกอย่างมาก
• ไม่ทานอาหารที่มีความเป็นกรด และบดเคี้ยวอาหารแข็งทันทีหลังว่ายน้ำ เพราะฟันยังคงอ่อนแอจากการสัมผัสกรดในน้ำ หากทานอาหารที่มีสภาพกรดจะยิ่งทำให้ฟันกร่อนมากยิ่งขึ้น อาหารที่ควรเลี่ยงได้แก่ น้ำอัดลมทุกชนิด เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำมะนาว ผลไม้เปรี้ยว อาหารดองเปรี้ยว นอกจากนี้ยังไม่ควรขบเคี้ยวหรือทานอาหารแข็งต่างๆ เพราะฟันอาจจะบิ่นได้
• เมื่อขึ้นจากสระน้ำ ให้บ้วนน้ำมากๆ หรืออาจบ้วนน้ำนม เพื่อลดความเป็นกรดในช่องปาก
• หากเสียวฟันมาก ควรปรึกษาทันตแพทย์ทันที

เทคนิคพิเศษลดอาการเสียวฟัน
• นักกีฬาอาจเข้าพบทันตแพทย์ทำที่ครอบฟันยางเฉพาะบุคคล (Mouthguard) โดยเข้านัดทันตแพทย์ ทำถาดยางไว้ใส่ในขณะว่ายน้ำ เพื่อให้ฟันสัมผัสกับน้ำในสระน้อยลง ทั้งนี้ ในกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ถาดยางเฉพาะบุคคล ควรเปลี่ยนทุกๆ ปี หรือเมื่อรู้สึกว่าใส่ยางกัดไม่สนิทดี
• บ้วนน้ำด่าง เราสามารถผสมผงฟูหนึ่งช้อนชากับน้ำเปล่า 100 มิลลิลิตร ใส่ขวดเตรียมไว้ทุกวัน เพื่อใช้บ้วนน้ำทันทีหลังจากขึ้นจากสระ
• ใช้สารทากันเสียวและเพิ่มความแข็งแรงให้กับฟัน สารต่างๆ นี้ สามารถหาซื้อใช้ได้จากคลินิกทันตกรรมและซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ภายใต้ชื่อ Tooth Mousse ได้แก่ GC Tooth Mousse, DR.C Sport Tooth Mousse ทั้งนี้ สามารถนำสารนี้ใส่ในถาดยางเฉพาะบุคคล ก็สามารถช่วยลดอาการเสียวฟันจากความเป็นกรดของน้ำคลอรีนได้
• การรักษาฟันที่สึกกร่อนไปและมีอาการเสียวฟัน สามารถทำได้โดยการเคลือบฟลูออไรด์เข้มข้นทุกหกเดือนและใช้ยาสีฟันลดอาการเสียวฟัน หรือใช้ Tooth Mousse ทาให้ฟันแข็งแรงขึ้น กรณีที่ฟันถูกทำลายไปมาก สามารถรักษาฟันโดยการทำครอบฟัน หรือเคลือบฟันเฉพาะตำแหน่งได้

ปัญหาของคลอรีนส่วนเกินในสระว่ายน้ำนั้น สามารถพบเจอได้อย่างกว้างขวาง การดูแลแก้ไขส่วนบุคคลคือการเฝ้าตรวจสอบและระมัดระวังตนให้ดีที่สุด เพื่อลดปัญหาต่อนักว่ายน้ำ ความรักในการว่ายน้ำต้องควบคู่กับความปลอดภัยด้วยเช่นกัน

Story by รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงาม และทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SHARE