counters
hisoparty

A Beautiful Mind…ม.ล.พลอยนภัส ลีนุตพงษ์

25 days ago

          คุณขวัญ - ม.ล.พลอยนภัส ลีนุตพงษ์ เป็นอีกหนึ่งต้นแบบของผู้หญิงยุคนี้ ที่มีความสามารถรอบด้าน และยังรับผิดชอบในทุกหน้าที่ได้อย่างไร้ที่ติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ด้านการทำงานเพื่อสังคมกับมูลนิธิปันสุข และด้านการดูแลครอบครัวในฐานะของแม่ และภรรยา และอีกหนึ่งหน้าที่ที่เธอยึดถือปฏิบัติเสมอมา คือ หน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติบ้านเมือง HiSoParty จึงถือโอกาสในเดือนที่มีวันสำคัญอย่าง International Women’s Day มาพูดคุยสัมภาษณ์ แลกเปลี่ยนแนวคิดดีๆ จากสุภาพสตรีต้นแบบคนนี้ 

          “ในด้านการทำงานช่วงนี้ ขวัญจะโฟกัสเรื่องของ Sharisma (ชาริชมา) เป็นหลักค่ะ เพราะขวัญอยากมีเวลาให้กับลูกๆ ด้วยว่าลูกชายคนเล็ก (น้องแทน - สุรพัศ ลีนุตพงษ์) ยังเล็กอยู่มาก เพิ่งจะ 3 ขวบยังต้องการการดูแลเอาใจใส่ และในส่วน น้องธี - ธีทัต ลีนุตพงษ์ ลูกชายคนโตแม้จะอายุ 16 ปีแล้ว แต่เราก็ต้องมีเวลาให้กับเขาเช่นกันค่ะ ซึ่งขวัญจะให้เวลากับเขาเต็มที่เลยทั้งคู่” คุณขวัญอัปเดทการใช้เวลาในปัจจุบันของเธอก่อนที่จะเริ่มต้นคุยกันถึงเรื่องราวต่างๆ ในมุมมองที่น่าสนใจ...

ผู้หญิงกับการทำงาน
          “ตอนที่มีลูกจะเห็นได้ชัดเจนมากเลยค่ะ ก่อนหน้านี้ตอนลูกชายคนแรกเขาโตแล้ว ขวัญมีเวลาอิสระในการทำงาน และช่วยพี่นัท (คุณอภิชาติ ลีนุตพงษ์) ได้อย่างเต็มที่ แต่พอมีคนเล็ก เราไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เหมือนเมื่อก่อน เพราะขวัญมีความรู้สึกของความเป็นแม่ คือผู้ชายทำงานหนักเขายังรู้สึกว่าเขาดูแลครอบครัว แต่ของเราถึงแม้จะไปช่วยดูแลธุรกิจหรือเพื่อซัพพอร์ตครอบครัว ความรู้สึกผิดมันจะอยู่ในใจเราตลอด เหมือนเราละเลยหน้าที่ของแม่น่ะค่ะ ซึ่งความเป็นแม่สำคัญกับขวัญมาก จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ขวัญไม่สามารถลุยงานเต็มที่ได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะสำหรับขวัญตอนนี้ลูกสำคัญที่สุด นี่จึงเป็นสิ่งที่ขวัญคิดว่าอาจจะเป็นความยากของความเป็นผู้หญิงนะคะ เพราะเราเป็นแม่ แต่ก็เป็นสิ่งที่ขวัญเต็มใจที่จะทำที่สุด
          “และหากพูดถึงข้อดีในการทำงานกับความเป็นผู้หญิง ขวัญคิดว่าผู้หญิงเรามองกว้าง ผู้ชายจะมองในทางตรง แล้วมองพุ่งไปข้างหน้าค่ะ แต่การมองพุ่งไปข้างหน้าบางทีมันอาจจะเป็นแค่มุมเดียว ผู้หญิงเราจะมองในหลายๆ มุม มองได้กว้างกว่า ขวัญว่าการบาลานซ์ผู้หญิงกับผู้ชายมันเป็นมุมมองที่ดีนะคะ อย่างขวัญเชื่อมั่นในทิศทางของพี่นัทที่วางอย่างเฉียบขาด และตรงไปตรงมา แต่ว่าพี่นัทก็ต้องการให้ขวัญมองในหลายๆ มุมและคอยซัพพอร์ตอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งพอเรามารวมกันแล้วทุกอย่างลงตัว ความละเอียดรอบคอบ และความอะลุ่มอล่วยของผู้หญิงกับเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ น่าจะเป็นข้อได้เปรียบของผู้หญิงเราค่ะ”

เคล็ดลับในการจัดสรรเวลา
          “ขวัญจะมองเวลาในมุมของคนอื่น ไม่ใช่เวลาของเราค่ะ ยกตัวอย่างลูกคนเล็ก วันที่เขาไม่ได้เรียนและเขามีเวลาว่างตรงไหนเราก็ต้องเอาเวลาว่างของเขามา แล้วทำให้เราว่างตรงกับเขาให้ได้ค่ะ และเมื่อถึงเวลาที่เขานอนกลางวัน ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ขวัญดูแลตัวเอง คือไปออกกำลังกาย หรือไปเสริมสวยทำอะไรของขวัญไป แล้วตอนเย็นก็เป็นเวลาของลูกชายคนโต ในส่วนของพี่นัทเราก็ต้องมีเวลาให้เขา เราจะเซ็ตเวลาที่เราจะทำร่วมกันอย่างไปกินข้าวหรือไปไหนกันสองคนเราจะเซ็ตไว้เลย ขวัญรู้สึกว่าเราพอเพียงกับเวลาพวกนี้ วิธีจัดการไม่ได้มีอะไรมาก แค่ต้องบาลานซ์ทั้งหมดแล้วดูเวลาของแต่ละคนว่าเขาว่างกันตรงไหน แล้วเราก็เอาเวลาตรงนั้นมาเป็นตัวตั้ง โดยที่เราไม่รู้สึกกดดันเกินไป ส่วนเวลาที่เหลือนิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นเวลาที่เราสามารถดูแลตัวเองได้ค่ะ”

มูลนิธิปันสุข
          “มูลนิธิปันสุข มีเป้าหมายใหญ่มากค่ะ แต่ว่าตอนนี้มันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะขวัญเป็นคนที่ไม่ใช่สายนักธุรกิจ ขวัญมองว่าการทำธุรกิจมันคือการทำบางอย่างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์บางอย่างกลับมา ส่วนตัวขวัญเองอยู่ในสายที่อยากทำให้คนอื่นมากกว่าการได้อะไรกลับมา และไม่ต้องคิดว่าทำแล้วคนต้องมาชื่นชมค่ะ เพราะขวัญคิดเพียงแต่ว่าเรามีความสุขในการที่เราทำอยู่แล้ว ขวัญมี Passion ในการที่จะทำงานเพื่อจะได้ทำประโยชน์ให้คนอื่นๆ ซึ่งการที่เราตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพราะอยากทำอะไรให้คนอื่นมากมาย ขวัญคิดใหญ่ค่ะ ขวัญอยากที่จะทำให้คนมีการศึกษา ขวัญคิดเรื่องการศึกษาอันดับแรกเลย อยากให้ทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้ อยากทำสิ่งดีๆ ให้ชุมชน ให้ทุกคนมีโอกาสได้มาเรียน ได้มาศึกษาเอาความรู้เป็นทักษะชีวิต แล้วนำไปต่อยอด อยากให้ต้นทุนชีวิตกับเขา เพื่อให้เขาไปใช้ชีวิตต่อได้ ขวัญคิดว่าการให้เงินแป๊บเดียวก็หมด แต่การให้วิชาชีพ การให้การศึกษา เขาจะนำไปต่อยอดตรงนั้นได้อย่างเป็นประโยชน์ มูลนิธิปันสุขก็เลยเกิดขึ้นมาค่ะ โดยรายได้ของมูลนิธิมาจากการทำงานค่ะ ซึ่งมันก็เหมือนเป็นของขวัญที่ขวัญตั้งใจจะมอบให้คนอื่นอยู่แล้ว แต่แทนที่จะไปอยู่ในรูปแบบบริษัท เราก็มอบเป็นมูลนิธิ ซึ่งพี่นัทเขาจะทำเป็นแบบปันผล เช่น ปีนี้บริษัทมีกำไรเท่านี้ๆ เขาจะแบ่งกี่เปอร์เซ็นต์ใส่เข้าไปในมูลนิธิปันสุข แล้วมูลนิธิปันสุขก็นำไปทำนู่นทำนี่ตามที่ขวัญต้องการ โดยที่ไม่ต้องเอาชื่อของบริษัทใดมาใส่เลย ทำในฐานะของมูลนิธิ ไม่ต้องบอกว่าเป็นใคร ไม่ต้องบอกว่าเป็นขวัญ ขวัญสบายใจมากกว่าค่ะ มูลนิธินี้เลยไม่เคยเรียกของบริจาคที่ไหนเลย ฉะนั้นรายได้ก็ไม่ได้เยอะ เพราะว่าด้วยผลประกอบการของเศรษฐกิจที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดีมาก ขวัญถึงบอกว่าขวัญคิดใหญ่ แต่ผลมันยังออกมาไม่ได้ แต่ที่สุดแล้วขวัญก็จะทำต่อไปค่ะ”

ก้าวผ่านความทุกข์
          “จากเหตุการณ์ไฟไหม้โกดังชาริชมา ความเสียหายหลายร้อยล้านค่ะ เป็นการสะดุดครั้งใหญ่ ซึ่งในวินาทีตอนนั้นขวัญรู้สึกเป็นห่วงก่อนอันดับแรก คือกลัวคนอื่นเดือดร้อน และตัวเองก็พยายามตั้งสติ ซึ่งพอเรามีสติเราก็มานั่งคิดว่า ไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่เจอเหตุการณ์พวกนี้ มีคนอีกมากมายที่เขาต้องเจอแบบนี้ แล้วเราจะมานั่งฟูมฟายกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์ เรายังมีสองมือสองขา เรามีทีมงานที่เขายังรักเราอยู่ พวกเขาพร้อมจะลุยกับเรา ขวัญจึงเริ่มรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร เราลุยใหม่ได้ เราเคยลุยมาแล้ว แล้วเราประสบความสำเร็จมาแล้ว ตอนนี้เงินพวกนั้นมันหายไป เราก็หามาใหม่ได้ค่ะ คือเราเรียนรู้ที่จะยอมรับ ตั้งสติและเริ่มต้นใหม่ค่ะ”

ความสุขในวันนี้
          “ความสุขของขวัญจริงๆ คือความสงบจากใจขวัญ การที่ขวัญได้อยู่กับธรรมชาติ มันเหมือนเป็นพลังให้ขวัญจริงๆ และไม่ใช่เป็นการฉาบแค่ข้างนอก สุขที่ได้มาจากข้างนอก ไม่ว่าจะซื้อของหรืออะไร ถามว่ามีความสุขมั้ย มันก็สุข แต่มันไม่ลงไปถึงข้างในจริงๆ ซึ่งมันทำให้เราอยากไขว่คว้าอยากหาที่ดีต่อไปเรื่อยๆ แต่ความสุขจริงๆ ที่มันเกิดขึ้นจากความสงบที่ข้างใน มันเจอแล้ว มันหยุดอยู่แค่นั้นแล้วค่ะ มันหยุดแล้วมันไม่ไปหาไปกว่านั้น มันไม่มีแล้ว เพราะว่ามันสงบแล้ว ขวัญรู้สึกว่าการที่จะสุขจริงๆ ของขวัญคือสุขจากข้างใน การที่เราไม่ยินดียินร้ายในสิ่งที่คนพูดถึงเรา ได้ยินในสิ่งที่เขาว่าร้ายคิดร้าย แล้วใจยังนิ่งอยู่ตลอด จิตของเรายังนิ่งตลอด ขวัญว่าอันนี้คือความสุขที่แท้จริงค่ะ”

ตอบแทนคุณแผ่นดิน
         “ในเรื่องของการตอบแทนคุณแผ่นดิน ขวัญมีความคิดนี้มาตั้งแต่เด็ก คือขวัญตั้งเป้าไว้เลยว่าจะทำเพื่อแผ่นดิน จะทำเหมือนที่บรรพบุรุษทำ ทุกเรื่องที่ขวัญทำก็คือ ทำให้คนอื่น ไม่ต้องทำให้ตัวเองค่ะ ทำให้ตัวเองแค่พออยู่ได้ แค่พอให้สังคมเขายอมรับ ให้เขาได้รู้จักเรา เพื่อเราจะได้ทำอย่างอื่นให้คนอื่น ไม่ได้ทำเพื่อจะต้องการเป็นคนมีชื่อเสียงหรือเพื่อให้คนมาชื่นชม แต่ขวัญทำเพื่อให้เรามีโอกาสได้ทำประโยชน์อย่างอื่นให้แผ่นดินต่อค่ะ ขวัญรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ ในการเลี้ยงลูกก็เลี้ยงเพื่อแผ่นดิน ไม่ได้เลี้ยงเพื่อให้เรามีชื่อเสียง ไม่ได้เลี้ยงเพื่อให้เป็นความสุขของเรา ลูกคือลูก ลูกคือตัวตนของเขา เขาอาจจะได้ทำประโยชน์หรือทำอะไรอย่างอื่นให้สังคมหรือคนอื่นต่อไปได้ หรือการที่เราทำอะไรให้พนักงานของเรา เราไม่จำเป็นต้องให้เขามาเป็นลูกน้องเรา หรือต้องทำงานให้เราตลอดชีวิต เราต้องการให้เขาเติบโตเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีประโยชน์ให้แผ่นดิน ไม่ว่าเขาอยู่ที่ไหน ไม่ว่าเขาจะอยู่กับเราหรือกับใคร เขาต้องมีประโยชน์กับแผ่นดิน เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันอยู่ในคำนี้คำเดียวเลยค่ะ”

Photo By : Veeraphol
Author By : Arunlak

SHARE