counters
hisoparty

ฟันเทียม ดีเท่าฟันจริงไหม

5 years ago

ในชีวิตมนุษย์เราทุกคนนั้น เกิดมาแล้ว ธรรมชาติจะสร้างฟันให้บดเคี้ยวในช่องปากสองชุด ในช่วงอายุที่ต่างกัน ในวัยเด็กตั้งแต่อายุหกเดือนถึงสองปี ฟันชุดแรกจะค่อยๆ งอกออกจากเหงือก ให้เราได้ใช้บดเคี้ยวอาหาร ฟันชุดแรกนี้เรียกกันว่าฟันน้ำนม มีขนาดเล็กกว่าฟันแท้ มีจำนวนทั้งสิ้น 20 ซี่ (ฟันบน 10 ซี่ ฟันล่าง 10 ซี่) ส่วนฟันชุดที่สองนั้นจะค่อยๆ ขึ้นในช่องปาก ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ โดยบางส่วนขึ้นมาทดแทนตำแหน่งฟันน้ำนม และบางส่วนขึ้นบริเวณเหงือกที่ว่าง ด้านหลังต่อชุดฟันน้ำนม ฟันชุดที่สองนี้ มีขนาดใหญ่กว่าฟันน้ำนม มักจะถูกเรียกว่าฟันแท้ มีรากฟันที่ยาว ผิวฟันแข็งแรงไม่เปราะหักง่าย แบ่งเป็นฟันหน้า ฟันกรามน้อย และฟันกรามใหญ่ (ฟันบนและฟันล่าง) แต่เมื่อมนุษย์เราสูญเสียฟันชุดที่สองไปแล้ว ร่างกายมนุษย์ก็จะไม่สามารถสร้างฟันชุดที่สามมาทดแทนได้ บริเวณที่สูญเสียฟันไป จะเกิดเป็นบริเวณสันเหงือกว่างๆ นั่นเอง ในปัจจุบันนั้น เทคโนโลยีทางทันตกรรมทำให้ทันตแพทย์สามารถสร้างฟันชุดที่สามให้กับมนุษย์ ฟันชุดที่สามหรือฟันที่มักจะถูกเรียกว่า ฟันเทียม จะมีหลายๆ ลักษณะถูกนำมาใช้ทดแทนฟันที่เสียไป เพื่อช่วยในการสร้างความสวยงามและบดเคี้ยวอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ

ฟันชุดที่สาม มีหลายลักษณะ เป็นฟันที่ต้องเสียเงินในการสร้างขึ้นมา ทันตแพทย์จะต้องออกแบบ วางแผนการรักษา และสร้างฟันชุดที่สาม หรือฟันเทียมนี้ ให้ผู้ที่สูญเสียฟันไป ได้ใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้

ฟันชุดที่สาม หากแบ่งตามลักษณะ การยึดติดแน่นในช่องปาก จะแบ่งได้เป็นสองลักษณะ คือ ฟันเทียมแบบถอดได้ และฟันเทียมแบบติดแน่น

ฟันเทียมแบบถอดได้ คือฟันเทียมที่สามารถถอดออกจากช่องปากได้ เพื่อนำมาทำความสะอาด แปรง ล้างฟันเทียมนี้นอกช่องปาก ทำให้การดูแลรักษาทำได้ง่าย ฟันเทียมชนิดนี้ สามารถใช้ทดแทนฟันบางซี่ในช่องปาก ตลอดจนทดแทนฟันทั้งปากที่สูญเสียไปได้ มีทั้งชนิดโครงโลหะ และชนิดโครงพลาสติก ราคาค่ารักษาเมื่อเทียบกับฟันเทียมชนิดอื่น จะมีค่าใช้จ่ายในการทำฟันเทียมที่ต่ำกว่าชนิดอื่น แต่มีข้อด้อยคือ การถอดออกจากช่องปากได้ ทำให้รู้สึกเหมือนไม่ใช่ฟันถาวร ชิ้นฟันปลอมค่อนข้างใหญ่ ต้องใช้เวลาในการปรับตัวกับฟันเทียมชนิดนี้จึงจะเกิดความคุ้นชินให้ความรู้สึกในการใช้งานในช่องปากเสมือนฟันธรรมชาติ

ในปัจจุบัน เมื่อเราสูญเสียฟันไป จากการถอนฟัน ทันตแพทย์สามารถปลูกรากฟันขึ้นใหม่ได้ โดยการใช้รากฟันเทียม ซึ่งเป็นรากฟันโลหะไทเทเนียม นำมาปลูกโดยการฝังลงในกระดูก รอให้กระดูกยึดติดกับรากเทียมนี้ แล้วทำการบูรณะฟันส่วนตัวฟันขึ้นมาใหม่ รากฟันเทียมจึงจัดเป็นฟันเทียมแบบติดแน่นชนิดหนึ่ง รากฟันเทียมจะมีค่ารักษาที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับฟันเทียมชนิดอื่นๆ แต่การปลูกรากใหม่ทดแทนฟันที่เสียไปได้นั้น จัดเป็นนวัตกรรมใหม่ทางทันตกรรม รากฟันเทียมมีความเป็นธรรมชาติสูงเสมือนฟันแท้ตามธรรมชาติ

ฟันเทียม ดีเท่าฟันจริงไหม
จะว่าไปแล้ว ฟันทดแทนชุดที่สามนี้ จัดว่ามีความเป็นธรรมชาติที่สูงมาก แต่ฟันแท้ของมนุษย์นั้นมีระบบประสาทรองรับและสามารถขยับขึ้น ลงได้ตามแรงบดเคี้ยว ฟันแท้นั้น จึงมีการรับรู้และมีความไวต่อการสัมผัสที่สูง ต่างจากฟันเทียมที่ใช้ทดแทน

ฟันเทียมแบบถอดได้นั้น ฟันที่สร้างขึ้นทดแทน จะทำมาจากอะคริลิกที่มีคุณสมบัติคล้ายพลาสติก ดังนั้น ฟันเทียมแบบถอดได้ จึงมีความแข็งที่น้อยกว่าเคลือบฟันมนุษย์

ฟันเทียมแบบติดแน่นนั้น จะสร้างขึ้นได้จากวัสดุหลายประเภท ได้แก่ โลหะทองคำ ทองคำขาว หรือเซรามิกที่มีลักษณะคล้ายแก้ว ทั้งนี้ โลหะจะมีความแข็งแรงดี และเมื่อบดเคี้ยวไป จะสามารถปรับการบดเคี้ยวให้เข้ากับฟันธรรมชาติได้ดี พบบ่อยครั้งว่า ผู้ป่วยหลายคนที่เข้ารับการทำฟันด้วยครอบฟันโลหะทั้งซี่ แจ้งว่าเมื่อทำฟันเสร็จใหม่ๆ อาจจะรู้สึกได้ว่า มีความผิดปกติเมื่อบดเคี้ยวอาหาร ตราบจนผ่านการใช้งานไปสักระยะ ก็จะรู้สึกว่า สามารถเคี้ยวอาหารได้เป็นปกติ ทั้งนี้เพราะโลหะจะมีความอ่อนเพียงพอและยอมปรับรูปร่างไปตามระนาบการบดเคี้ยวนั้นๆ

ส่วนฟันเทียมแบบติดแน่นที่ทำจากเซรามิก จะมีการปรับตัวไปตามการสบฟันได้น้อยกว่า เมื่อบูรณะฟันแล้วทันตแพทย์ไม่ได้ตรวจสอบการสบฟันให้ดี จะพบจุดสูงเมื่อบดเคี้ยว ซึ่งก่อให้เกิดแรงบดเคี้ยวส่วนเกินเฉพาะซี่ ทำให้เซรามิกแตกหักได้ง่าย หรืออาจทำให้เกิดอาการปวดฟันได้

ฟันเทียมแบบติดแน่นที่สร้างบนฟันธรรมชาติ หากได้รับการปรับการสบฟันที่ดีแล้ว จะสามารถรับรู้สัมผัสจากแรงบดเคี้ยวได้ดี ทั้งนี้ พบว่าในฟันธรรมชาตินั้น หากมีเส้นผมที่พบในอาหาร และฟันได้บดเคี้ยวเส้นผมนั้น ฟันธรรมชาติจะมีความไว รับรู้ได้ว่า มีวัตถุที่แข็งขนาดความหนาเท่าเส้นผมอยู่ในอาหาร ได้มีการทำสอบความไวต่อสิ่งแปลกปลอมนี้ของฟันธรรมชาติ พบว่า ฟันธรรมชาติจะมีความไวต่อสิ่งแปลกปลอมที่หนามากกว่า 20 ไมครอนได้ ฟันเทียมแบบติดแน่นก็เช่นกัน พบว่าจะมีความไวต่อสิ่งแปลกปลอมที่หนาประมาณ 20 ไมครอน ในขณะที่ฟันเทียมแบบถอดได้ ไม่สามารถรับรู้สิ่งแปลกปลอมที่หนา 20 ไมครอน จึงพบได้ว่า ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยที่ทำฟันเทียมแบบถอดได้ไป จะรู้สึกว่าการบดเคี้ยวอาหารมีความแตกต่างจากฟันธรรมชาติ เพราะฟันเทียมไม่สามารถรับความรู้สึกที่ละเอียดเหมือนฟันแท้ อีกทั้งฟันเทียมไม่สามารถรับความรู้สึกเมื่อสัมผัสอาหารได้

ฟันที่บูรณะบนรากเทียมก็เช่นกัน จะสามารถรับรู้สิ่งแปลกปลอมที่หนา 20 ไมครอนไม่ได้ ทั้งนี้เพราะรากเทียมนั้นปลูกบนกระดูก ไม่มีช่องปริทันต์ระหว่างฟันและกระดูก (Periodontal space) เหมือนฟันธรรมชาติ รากเทียมจึงขาดความรู้สึกละเอียด จากงานวิจัยนั้น แสดงให้เห็นว่า ฟันที่บูรณะบนรากเทียมจะสามารถรับรู้สิ่งแปลกปลอมที่หนา 48 ไมครอนขึ้นไปได้ ความไวต่อการรับรู้สิ่งแปลกปลอมในอาหารจะน้อยกว่า ฟันธรรมชาติ

นอกจากนี้ฟันเทียมก็ยังมีอายุใช้งาน เมื่อใช้ครอบฟัน สะพานฟันไประยะเวลาหนึ่ง ครอบฟัน สะพานฟันจะเกิดความเสื่อม จะต้องวางแผนการทำฟันใหม่

จากข้อมูลเบื้องต้น สามารใช้ตอบคำถามที่ว่าฟันเทียมดีเท่าฟันจริงไหม กล่าวคือ ฟันเทียมนั้น ไม่ได้ดีมากกว่าฟันจริง การรักษาฟันแท้ให้อยู่กับเราไปนานๆ จึงมีความสำคัญมากๆ นั่นเองแล้วพบกันใหม่ครับ

Story by รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงาม และทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SHARE